advertisement

เทคนิคคิดค่าแรงก่อสร้างอย่างรวดเร็ว เหมาะสมเข้าใจได้ง่ายๆ

ถ้าต้องสร้างบ้าน หรือต่อเติมนั้นจะมีวิธีการประเมินค่าแรงก่อสร้างอย่างไรให้เหมาะสม แน่นอนว่าคุณไม่สามารถรับเหมาได้โดยไม่มีคนงาน

advertisement

       ถ้าต้องสร้างบ้านหรือต่อเติมนั้น จะมีวิธีการประเมินค่าแรงก่อสร้างอย่างไรให้เหมาะสม แน่นอนว่าคุณไม่สามารถรับเหมาได้โดยไม่มีคนงาน หรือ ไม่มีช่างได้เลยทั้งแรงงานรายวัน หรือแรงงานตัดเหมาโดยต้นทุนแรงงานนี้ รวมไปถึงเบี้ยเลี้ยงและผลประโยชน์อื่นๆ ที่ทีมงานจะได้รับด้วย

      ต้นทุน "ค่าแรง" ของค่าก่อสร้างบ้านที่รู้กันดีว่าโดยทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30%ส่วนต้นทุน "ค่าของ" เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70% ของต้นทุนงานก่อสร้างทั้งหมด

     ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับงานออกแบบของบ้านแต่ละหลัง มีขนาด มีรายละเอียด มีเนื้องานที่ทำให้น้ำหนักแต่ละงานนั้นแตกต่างกัน

     ถ้าคุณมีการบริหารจัดการต้นทุนแรงงานได้ถ้าคุณมีทีมงานฝีมือดี ทำงานเร็ววางแผนได้ดีทำงานไม่ผิดพลาด งานได้คุณภาพย่อมทำให้ต้นทุนส่วนนี้ต่ำลง

advertisement
       ล่าสุดเพจดังเผย เทคนิคคิดค่าแรงก่อสร้างอย่างรวดเร็ว  เล่าว่า...วันนี้ผมเลยขอยกตัวอย่าง "ต้นทุนค่าแรง"เป็น "บ้าน คสล. 2 ชั้นทั่วไป" เพื่อให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจได้ง่ายๆ เผื่อเป็นประโยชน์กันครับ

1. ค่าแรงงานโครงสร้าง

    ค่าแรงส่วนนี้เป็นต้นทุนค่าแรงที่มากที่สุดของค่าแรงรายการอื่นๆ โดยค่าแรงโครงสร้างเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25% ของต้นทุนโครงสร้างขึ้นอยู่กับแบบก่อสร้าง ความยากง่ายของโครงการนั้นๆ เป็นต้น และถ้าเราจะประเมินค่าแรงงานโครงสร้างในท้องตลาด คิดเหมาเป็นต่อตารางเมตรกันที่ 800 - 1,200 บาทต่อตารางเมตร

2. ค่าแรงงานหลังคา

    บ้านแต่ละหลังอาจจะมีค่าแรงงานหลังคาที่แตกต่างกัน เนื่องจากหลังคาบ้านเรานั้นมีหลากหลายแบบหลากหลายสไตล์ส่วนใหญ่ก็จะเป็น ทรงปั้นหยา ทรงจั่วหรือ ทรงเพิงหมาแหงน ในปัจจุบัน โดยทั่วไปค่าแรงหลังคาจะอยู่ที่ 25-35% ของต้นทุนงานหลังหลังคาทั้งหมด

    ค่าแรงงานหลังคาส่วนใหญ่ก็จะแยกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ค่าแรงทำโครงหลังคาและค่าแรงมุงหลังคา

    ค่าแรงโครงหลังคา ถ้าเป็นเหมาต่อ ตรม.ในท้องตลาดจะอยู่ที่ 150 - 450 บาทต่อตรม. เช่น ทรงปั้นหยา 350-450 บาทต่อตารางเมตรแต่ถ้าเป็นทรงเพิงหมาแหงนก็จะอยู่ที่ประมาณ 200-250 บาทต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับรายละเอียด และความซับซ้อนของงาน เป็นต้น

    ส่วนค่าแรงงานมุงหลังคาทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 150-450 บาทต่อตารางเมตรขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้องวัสดุมุงหลังคาด้วยเช่น ถ้าเป็นหลังคาทรงปั้นหยาจะอยู่ที่ 150-350 บาท แต่ถ้าเป็นหลังคาเมทัลชีทก็จะต่ำลงที่ 50-150 บาทต่อตารางเมตรได้

3. ค่าแรงงานพื้น

    ค่าแรงงานพื้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานปูกระเบื้องงานปูลามิเนต หรือปูพื้นไม้ปาเก้ แล้วแต่สเปคซึ่งราคาก็จะแตกต่างกัน

    ค่าแรงงานพื้น จะอยู่ที่ 25-35% ของต้นทุนตัวอย่างค่าแรงงานพื้นที่ใช้กันมากที่สุดคือค่าแรงงานปูกระเบื้อง โดยทั่วไปตามท้องตลาดจะอยู่ที่ตั้งแต่ 100-300 บาทต่อตารางเมตรขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้อง พื้นที่ ความยากง่ายและความปราณีตของงานด้วย

4. ค่าแรงงานผนัง

    โดยทั่วไปค่าแรงงานผนังจะอยู่ในช่วง 35-45% ของต้นทุนผนังทั้งหมดต้นทุนค่าแรงงานผนังก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกันก็คืองานก่ออิฐและงานฉาบปูน

    ค่าแรงงานก่ออิฐ (ชั้นเดียว) ปัจจุบันจะอยู่ที่ 80-150 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของอิฐที่ก่อด้วยว่าเป็นอิฐมอญหรืออิฐมวลเบา

    อีกส่วนที่ต้องแยกคิดออกมาคืองานทำเสาเอ็นและทับหลังตามช่องประตูหน้าต่างหรือผนังที่กว้างตามกำหนด โดยทั่วไปจะคิดเป็นราคาต่อเมตรอยู่ที่ 30-80 บาท

   ค่าแรงงานงานฉาบปูนจะอยู่ที่ 80-150 บาทต่อตารางเมตร (ต่อด้าน) และส่วนงานฉาบภายนอก ก็อย่าลืมคิดค่าตั้งนั่งร้านรอบบ้านด้วย

   งานฉาบที่ตกลงกันก็ต้องดูด้วยว่ารวมหรือไม่รวมค่าจับเซี้ยมด้วยมั้ย ซึ่งค่าแรงจับเซี้ยมทั่วไปคิดที่เมตรละ 20-30 บาท

advertisement
5. ค่าแรงงานฝ้าเพดาน

    ค่าแรงงานฝ้าเพดานส่วนมากจะคิดเป็นต่อตารางเมตรที่ 80-120บาท รวมทั้งยิงฝ้าฉาบขัดเก็บพร้อมก่อนที่จะทาสี

    ต้นทุนค่าแรงทั่วไปจะอยู่ที่ 25-35% ของต้นทุนส่วนงานฝ้าตกแต่ง เช่น งานฝ้าดรอป ฝ้าหลุมหรือร่องม่าน ก็ขึ้นอยู่กับตกลงกัน ส่วนใหญ่ก็จะคิดราคาเป็นต่อเมตร ตามความยากง่าย

6. ค่าแรงงานประตูหน้าต่าง

       ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ บ้านเรานิยมใช้ประตูหน้าต่างที่เป็นงานอลูมิเนียมค่อนข้างมากยกเว้นส่วนหลักๆ เช่น ประตูเข้าบ้าน ประตูห้องน้ำเป็น ประตูไม้อัด (ลามิเนต,ทำสี) หรือ บานไม้จริง

       งานอลูมิเนียมส่วนใหญ่จะเป็นช่างทีมงานที่เชี่ยวชาญงานอลูมิเนียมโดยเฉพาะก็จะ "ตัดเหมาทั้งค่าของและค่าแรง"เนื่องจากว่าทีมช่างอลูมิเนียมจะมีการบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์ของเขาเองในการทำงาน เลยทำให้ % ค่าแรงส่วนนี้น้อยมาก ยกเว้นแค่ค่าแรงบานประตูไม้

       ค่าแรงงานประตูไม้ ส่วนมากก็จะคิดเป็นจุดเช่น บานไม้อัดอยู่ที่ 300-1,000 บาทต่อบานแต่ถ้าเป็นบานไม้จริงอาจจะสูงขึ้นมาที่ 1,000-2,000 บาทต่อบาน เป็นต้น

7. ค่าแรงงานบันได

    ค่าแรงงานบันไดทั่วไปจะอยู่ที่ 15-20% ของต้นทุนงานบันได ซึ่งค่าแรงในการทำบันไดส่วนมากก็จะเป็นเรื่องของงานติดตั้งไม้บันไดงานทำราวบันได ราวกันตก เป็นหลัก

    ซึ่งที่ % ต้นทุนค่าแรงต่ำกว่าค่าของมากเนื่องจากงานบันไดจะมีการใช้วัสดุค่อนข้างเยอะค่าแรงบันได บางงานก็มีการคิดเหมาได้เช่นกัน เช่น ราวบันไดเหล็ก ราวบันไดแสตนเลส ก็คิดกันเป็นราคาต่อเมตร

8. ค่าแรงงานสี

    ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนที่เราจะทาสีจะต้องมีการฉาบบางหรือสกิมโค้ทที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปก็จะคิดเป็นต่อตารางเมตรที่ 25-60 บาท

    ส่วนค่าแรงทาสีก็อยู่ที่ 30-70 บาทต่อตรม. ส่วนงานสีประตู สีไม้บันได สีงานระแนงงานสีตกแต่งผนัง ก็จะคิดกันเป็นจุดเป็นจุดไปและที่สำคัญก็อย่าลืมเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตั้งนั่งร้านสำหรับงานภายนอกด้วย

    สำหรับแรงงานทาสีหรือช่างสีในปัจจุบันก็มีกลุ่มผู้รับเหมาที่รับงานสีโดยเฉพาะที่บางทีก็มักจะนิยมเหมางานทั้งโครงการตีเหมาเป็นหลัง แบบนี้พวกโครงการบ้านจัดสรรก็จะนิยมกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไงก็ต้องประเมินจากต้นทุนต่อตารางเมตรเพื่อทำการรีเช็คด้วย

    ในการทำงานทาสี ควรมีการวางแผนในแต่ละขั้นตอนการทาสีให้ดีเพราะการลงสีมันคือขั้นตอนสุดท้ายถ้ามีแก้ไข ถ้ามีทาซ้ำอาจจะต้องทาใหม่ทั้งผืน หรือทำงานซ้ำซ้อนหลายรอบจนต้นทุนบานปลายได้เช่นกัน

    ส่วนค่าแรงงานสีอยู่ที่ 40-50 % ของต้นทุนส่วนของผมเองหลายงานก็จะมี%ค่าแรงนี้สูงกว่า % ค่าของ เนื่องจากรายละเอียดของงานและความประณีตของงานที่รับได้

9. ค่าแรงงานไฟฟ้า

    ค่าแรงงานไฟฟ้าทั่วไปจะอยู่ที่ 45-50 % ของต้นทุนงานไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับจำนวนจุดปริมาณ ลักษณะการเดินสายไฟ เป็นต้น

    ส่วนมากเวลาคิดต้นทุนค่าแรงไฟฟ้าก็จะประเมินเป็นจุด อย่างเช่น ถ้าเดินไฟร้อยท่อพีวีซี ทั่วไปก็จะอยู่ที่ 250-500 บาทต่อจุดหรือถ้าเป็นเดินไฟท่อ EMT โชว์สไตล์ลอฟท์พวกนี้ราคาก็อาจจะขึ้นมาอยู่ที่ 400-800 บาทต่อจุด และจะคิดค่าแรงเดินเมน หรือค่าแรงการติดตั้งตู้เมน ก็จะแยกออกมาปัจจุบันก็มีผู้รับเหมางานไฟฟ้าโดยเฉพาะเช่นกันที่บางทีก็มักจะนิยมเหมางานทั้งโครงการ ตีเหมาเป็นหลัง

10. ค่าแรงงานประปาและสุขาภิบาล

     ค่าแรงงานประปาทั่วไปอยู่ที่ 20-30% ของต้นทุนโดยค่าแรงส่วนนี้ส่วนมากก็จะแยกเป็น 2 ส่วนคืองานประปา กับระบบสุขาภิบาลภายนอกบ้าน

    สำหรับราคาท้องตลาดทั่วไปสำหรับงานประปามีทั้งคิดเป็นจุดหรือเหมาห้องน้ำเป็นห้องไปเลยก็มี ส่วนระบบสุขาภิบาลน้ำทิ้งส่วนมากก็จะเป็นคิดเป็นต่อเมตรขึ้นอยู่กับขนาดท่อของระบายน้ำและถังบำบัดหรือบ่อดักไขมันก็คิดกันเป็นจุด

11. ค่าแรงงานสุขภัณฑ์

     ค่าแรงงานสุขภัณฑ์ทั่วไปอยู่ที่ 15-25% ของต้นทุน ค่าแรงติดตั้งสุขภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็จะคิดเป็นต่อจุดติดตั้ง

     อุปกรณ์ใหญ่ๆ เช่น ชักโครก อ่างล้างหน้าอาจจะอยู่ที่ 300-1,000 บาทต่อจุดอุปกรณ์อื่นๆ อาจจะอยู่ที่ 100-300 บาทต่อจุดบางทีอาจจะให้ตีเหมาเป็นห้องเลยก็ได้ตามตกลงกัน

     ส่วนค่าแรงเหมาที่ผมแชร์นี้ เป็นประสบการณ์

     ส่วนตัวที่ผมทำอยู่ รวมกับข้อมูลจากเพื่อนๆผู้รับเหมาของผม ซึ่งของเพื่อนๆเอง อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ ในความเป็นจริงก็จะใช้ในการปรับ % ขึ้นลงได้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของงานเนื้องาน ปัจจัยต่างๆ และแรงานของแต่ละท้องถิ่นแต่ละจังหวัดด้วย

advertisement
      สำหรับหลายคนที่คิดราคาคิดต้นทุนค่าแรง โดยอิงจาก "ราคากลาง" ซึ่งก็ไม่ได้ผิดแต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ราคากลางสามารถใช้เป็นไกด์ในการประมาณได้เอาราคามา Cross-check, Re-check ได้แต่ก็ไม่อยากให้ไปอิงราคากลางทั้งหมดเพราะเนื่องจากว่า ความจริงของแต่ละงานนั้น มันมีความยากง่ายที่แตกต่างกันมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทำให้อาจจะไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงที่จะทำได้

      แน่นอนว่าเวลาเราทำแบบก่อสร้างจะมีคนถอด BOQ ออกมาแล้ว สิ่งที่สำคัญสิ่งนึงคือคุณในฐานะ "เจ้าของหรือผู้รับผิดชอบ"ก็คือ คุณต้องทำการ "เช็คต้นทุน" เป็นและคุณต้องสามารถมีความรู้พื้นฐานใน"การคิดต้นทุน คิดราคาเบื้องต้นได้"ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน

      ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการที่เรามีความรู้เรื่องค่าแรงงานจริง ๆ ที่เราทำงานก็จะใช้ในการตรวจสอบงานของเราที่ทำอยู่ค่าเฉลี่ยต้นทุนของผู้รับเหมาในตลาดที่ทำงานคล้ายๆ คุณว่าเขาทำกันอยู่ที่เท่าไหร่แล้วไม่ควรเกินเท่าไหร่ เพราะถ้าคุณรู้พวกนี้คุณจะรู้เลยว่าโครงการนี้ ดีหรือไม่ดีตรงไหนและควรปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง

       อย่างไรก็ตาม สามารถนำไปใช้ในการประมาณราคา ในขั้นตอนแบบร่าง รวมทั้งวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม ควรที่จะให้มีการประมาณราคาต่อตารางเมตรด้วยนะครับ

เรียบเรียงโดย : kaijeaw.com ที่มา : ผู้รับเหมาพันธุ์ใหม่ Contrepreneur

advertisement
advertisement