advertisement
479

รู้แล้วคำว่าสระ ทำไมอ่านต่างกัน?

การสะกดคำ คือ การอ่านโดยนำพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกดมาประสมเป็นคำอ่าน

advertisement

       การสะกดคำ คือ การอ่านโดยนำพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกดมาประสมเป็นคำอ่าน ถือเป็นเครื่องมือการอ่านคำใหม่เมื่อสะกดคำจนจำคำอ่านได้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องใช้วิธีการสะกดคำนั้น ให้อ่านเป็นคำได้เลย จะทำให้อ่านจับใจความได้และอ่านได้เร็ว แต่ก็มีบางคำที่เขียนเหมือนกันแต่อ่านต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น

“สระแก้ว” อ่านว่า สะ-แก้ว

advertisement
“สระบุรี” อ่านว่า สะ-หฺระ-บุรี

ในเรื่องนี้ต้องอาศัย ๒ เรื่อง คือ ภาษาศาสตร์ + ประวัติศาสตร์ โดยขอเล่าเรื่องที่มาของชื่อจังหวัดทั้ง “จังหวัดสระแก้ว” และ “จังหวัดสระบุรี” กันก่อน

“จังหวัดสระแก้ว” [อ่านว่า สะ] เป็นชื่อที่มาจากชื่อสระน้ำโบราณซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว มีอยู่จำนวน ๒ สระ ในสมัยกรุงธนบุรีราวปี ๒๓๒๓ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ ๑ ในกาลต่อมา) เป็นแม่ทัพยกทัพไปตีกัมพูชา (เขมร) ได้แวะพักกองทัพที่บริเวณสระน้ำทั้ง ๒ แห่งนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอยและได้ขนานนามสระทั้งสองว่า “สระแก้ว” และ “สระขวัญ” และได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งนี้ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์

“จังหวัดสระบุรี” [อ่านว่า สะ-หฺระ] ที่มาของชื่อจังหวัดสันนิษฐานว่า เพราะเหตุที่ทำเลที่ตั้งครั้งแรกมีบึงอยู่ใกล้ คือ “บึงหนองโง้ง” เมื่อตั้งเมืองขึ้นจึงได้นำเอาคำว่า “สระ” มารวมเข้ากันกับคำว่า “บุรี” เป็นชื่อเมือง “สระบุรี”

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนก็จะเกิดคำถามว่าทั้ง “จังหวัดสระแก้ว” และ “จังหวัดสระบุรี” ต่างก็มีที่มาของชื่อจังหวัดมาจากคำว่า “สระ” ที่แปลว่า “สายน้ำ แอ่งน้ำ” เหมือนกัน แต่ไฉนจึงอ่านต่างกัน

คำว่า “สระ” มีความหมายว่า “สายน้ำ แอ่งน้ำ” และคำนี้มาจากภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต

“สระ” อ่านว่า สะ มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สรสฺ” [อ่านว่า สะ -รัส] แต่เป็นคำไทยอ่านว่า สะ (อ่านแบบคำควบไม่แท้)

“สระ” อ่านว่า สะ-หฺระ มาจากภาษาบาลีว่า “สร” [อ่านว่า สะ -ระ] แต่เป็นคำไทยอ่านว่า สะ-หฺระ (อ่านแบบอักษรนำ)

ทั้ง ๒ จังหวัด คือ “จังหวัดสระแก้ว” และ “จังหวัดสระบุรี” ต่างก็มีที่มีจากรากศัพท์เดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่เลือกว่าจะนิยมอ่านแบบไหน “จังหวัดสระแก้ว” เลือกอ่านแบบคำควบไม่แท้ ที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า อ่านว่า สะ-แก้ว และ “จังหวัดสระบุรี” เลือกอ่านแบบอักษรนำ ที่มาจากภาษาบาลี อ่านว่า สะ-หฺระ-บุรี

แต่ในปัจจุบันพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้เก็บคำว่า “สระ” ที่หมายถึง “สายน้ำ แอ่งน้ำ” ไว้เพียงคำเดียว คือ คำว่า “สระ” ที่อ่านว่า สะ มาจากภาษาสันสกฤตไว้เพียงคำเดียว ไม่ได้เก็บคำว่า “สระ” ที่อ่านว่า สะ-หฺระ มาจากภาษาบาลีไว้ด้วย

แต่ในพจนานุกรมเล่มนี้เก็บคำว่า “สระ” ที่อ่านว่า สะ-หฺระ ไว้ด้วย แต่หมายถึง “ตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงสระ” ภาษาบาลีว่า “สร” ภาษาสันสกฤตว่า “สฺวร”

       ป.ล. ในปัจจุบัน ถ้าคำว่า “สระ” ที่อ่านว่า “สะ” จะหมายถึง “สายน้ำ แอ่งน้ำ” และคำว่า “สระ” ที่อ่านว่า “สะ-หฺระ” จะหมายถึง “ตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงสระ” เท่านั้น

เรียบเรียงโดย : kaijeaw.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คําไทย

advertisement
advertisement